เมื่อ : 22 ส.ค. 2565 , 390 Views

กองทุนสื่อ ถอดบทเรียนเวที TMF POWER FOR CHANGE ผสานพลังขับเคลื่อนพัฒนาสื่อปลอดภัย-สร้างนิเวศสื่อดีให้สังคมไทย 

 

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดผลสำรวจความคิดเห็นจากการโรดโชว์จัดกิจกรรมสัญจร “TMF POWER FOR CHANGE สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม” ชี้ปมปัญหาสื่อหลัก ทั้งการหลอกลวงในช่องทางออนไลน์และโทรศัพท์ ปัญหาข่าวปลอม หรือข่าวลวง (Fake News) ทางสื่อโซเชียลมีเดีย 

 

รวมถึงการระรานในโลกออนไลน์ เผยส่วนใหญ่ต้องการให้เกิดการผลิตสื่อที่ให้ความรู้เรื่องเฟคนิวส์ ส่งเสริมการผลิตสื่อสร้างสรรค์ประเภทละคร ภาพยนตร์ หนังสั้น การ์ตูนแอนิเมชัน การจัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านการผลิตและเฝ้าระวังสื่อ เด็กและเยาวชน ควรได้รับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมสนับสนุนการให้ทุนผลิตสื่อที่เป็นประเด็นทางสังคมมากขึ้น 

 

 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานเปิดกิจกรรม “TMF POWER FOR CHANGE สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม” ครั้งที่ 4 ภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเวทีสุดท้าย ภายใต้โครงการจัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค ประจำปี 2565 

 

ซึ่งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (Thai Media Fund : TMF) จัดขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันสื่อ การผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม โดยมี ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ประชาชน และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน 

 

 

ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างระบบนิเวศสื่อที่ดี ด้วยการสนับสนุนให้เกิดกระบวนการคัดกรองสื่อปลอดภัย สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรชุมชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน 

 

การขยายเครือข่ายด้านสื่อปลอดภัย สร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล รวมถึงการนำต้นทุนทางวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตที่เป็น Soft Power มาสร้างสรรค์สื่อเพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างมูลค่าเพิ่มและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้จัดจัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค ประจำปี 2565 

 

ภายใต้แนวคิด “กองทุนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์สังคม” โดยใช้ชื่อ “TMF POWER FOR CHANGE สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม” จำนวน 4 ครั้ง ครอบคลุม 5 ภูมิภาค เริ่มจาก ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งได้รับความสนใจและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนอย่างดียิ่ง 

 

 

ด้าน ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า การจัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนใน 3 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคใต้ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงราย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดอุดรธานี มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวมทั้งสิ้น จำนวน 1,244 คน ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมกิจกรรม พบประเด็นสำคัญด้านการเฝ้าระวังสื่อ 

 

โดยร้อยละ 68.22 ต้องการให้ส่งเสริมการผลิตสื่อประเภทภาพยนตร์ ละคร หนังสั้น การ์ตูนแอนิเมชันเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้รับชมได้ในวงกว้าง, ร้อยละ 57.94 ต้องการให้มีการจัดกิจกรรมฝึกอบรม สัมมนา ให้ความรู้ในการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสื่อ ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น, ร้อยละ 56.82 ต้องการให้ส่งเสริมการสร้างสรรค์สื่อที่ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนเรื่องข่าวปลอม หรือข่าวลวง (Fake News) ได้ 

 

 

และร้อยละ 47.29 เห็นว่ากลุ่มที่ควรได้รับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มากที่สุดคือ กลุ่มเด็กและเยาวชนในระดับมหาวิทยาลัย ด้านการสนับสนุนทุน พบว่า ร้อยละ 91.02 เห็นด้วยกับการให้ทุนสนับสนุนการผลิตสื่อที่เป็นประเด็นเร่งด่วน ประเด็นสาธารณะ และประเด็นทางสังคมให้มากขึ้น 

 

ส่วนด้านการดำเนินงาน พบว่า ร้อยละ 60 เห็นว่าควรสนับสนุนการสร้างสื่อที่ปกป้องความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้ประชาชนอย่างทั่วถึง และร้อยละ 57 เห็นว่าควรประสานการทำงานเครือข่ายในระดับชุมชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ของตนเองได้ 

 

 

ในขณะเดียวกันปัญหาของสื่อที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ด้วยการส่งข้อความทางแอปพลิชันไลน์ การส่งอีเมลแอบอ้างเป็นผู้ให้บริการบัญชีอีเมลเพื่อขอชื่อบัญชีผู้ใช้งาน (email address) และรหัสผ่าน (password) รวมถึงการโทรศัพท์หลอกลวงเพื่อขอข้อมูลส่วนบุคคล 

 

2.ปัญหาข่าวปลอม หรือข่าวลวง (Fake News) ทางสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม 

 

และ 3.ปัญหาการระรานในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ส่วนข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้แก่ การจัดสรรงบประมาณการสนับสนุนทุนโดยจำแนกเป็นกลุ่มภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และกลุ่มประชาชนทั่วไป การกำหนดแนวทางการดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายในระดับภูมิภาค จังหวัด และชุมชนอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมให้เกิดการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชน ตลอดจนการให้ความสำคัญกับการผลิตและเฝ้าระวังสื่อที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสื่อออนไลน์ 

 

 

ดร.ธนกร กล่าวว่า การลงพื้นที่จัดเวทีส่งเสริมการส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค ทำให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เห็นถึงความท้าท้ายในการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เช่น การที่เครือข่ายในแต่ละภูมิภาคและจังหวัดมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน จึงต้องกำหนดเป้าหมายการให้ทุนที่ชัดเจน การทำความเข้าใจและปรับยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมกับการสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้คนในสังคมและปัญหาที่เกิดขึ้น การจัดสรรทุนสำหรับสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้เข้าถึงคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม รวมถึงการเป็นผู้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปกป้องประชาชนจากการถูกหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์และการให้ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กและเยาวชน 

 

 

“สำหรับ TMF POWER FOR CHANGE ครั้งที่ 4 ภาคกลางและภาคตะวันออกเป็นเวทีส่งท้าย โดยข้อคิดเห็นจากกิจกรรมสัญจร 5 ภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น การเฝ้าระวังสื่อไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ที่ยังคงพบเห็นได้จากสื่อกระแสหลัก จำนวนมากนำเสนอสื่อที่มีความรุนแรง เนื้อหาการนำเสนอของสื่อกระแสหลักยังไม่สามารถผลักดันประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายเครือข่ายที่กว้างขวางมากขึ้นจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เกิดนิเวศสื่อที่ดีในสังคมไทยเพิ่มขึ้น 

 

ซึ่งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากบทสรุปการถอดบทเรียนเพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติต่อไป” ดร.ธนกร กล่าว

Tag :