เมื่อ : 22 ก.ค. 2565 , 379 Views

คำถาม: ผื่นฝีดาษลิงกับโรคอีสุกอีใสแยกกันได้อย่างไร? 

 

คำตอบ: จำคำสำคัญไว้ก่อนครับ 

1. ผื่นแบบเดียวกันหมด คือ ฝีดาษลิง ผื่นหลากหลายแบบคือ อีสุกอีใส . 

2. ผื่นขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า คือ ฝีดาษลิง ส่วนอีสุกอีใสไม่ค่อยมีผื่นที่มือหรือเท้า . 

3. ต่อมน้ำเหลืองอักเสบพบในฝีดาษลิง ส่วนอีสุกอีใสแทบไม่ค่อยมี . 

4. ผื่นขึ้นมากที่แขน ขา มากกว่าลำตัว คือ ฝีดาษลิง ส่วนอีสุกอีใสผื่นขึ้นที่ท้อง หน้าอกมากกว่าแขนขา . 

 

ข้อแรก ผื่นแบบเดียวกันหมด คือ ฝีดาษลิง ผื่นหลากแบบ คือ อีสุกอีใส คำว่า อีสุกอีใส ก็คือ วันที่เราตรวจร่างกายคนไข้ จะเจอผื่นแบบ “สุก” คือ เป็นหัวหนอง และ “ใส “ คือ เป็นตุ่มน้ำใส คือ เจอผื่นปนๆกันไปหมด . แต่ฝีดาษ คำว่าดาษ เหมือน “ดาษดื่น” คือ ผื่นจะลักษณะเหมือนกันไปหมด เช่น วันที่เป็นตุ่มน้ำใส ก็เป็นตุ่มใสไปทั้งตัว หรือวันหลังๆที่กลายเป็นตุ่มหนอง ก็จะเป็นตุ่มหนองไปทั้งตัว . 

 

ข้อสอง ผื่นอีสุกอีใสแทบไม่ขึ้นฝ่ามือ ฝ่าเท้าเลยครับ แต่ฝีดาษจะขึ้นที่มือและเท้า คงจำเรื่องการปลูกฝีของเอ็ดเวิร์ด เจอเนอร์ บิดาแห่งการผลิตวัคซีน  เขาสกัดฝีดาษวัวมาทำวัคซีน ฝีดาษวัว ติดจากมือของหญิงชาวบ้านที่รีดนมวัว เลยจำได้ง่าย ฝีดาษพบผื่นที่มือและเท้า . 

 

ข้อสาม ต่อมน้ำเหลืองอักเสบพบในฝีดาษลิง อันนี้เป็นข้อแยกสำคัญระหว่างฝีดาษรุนแรง (smallpox) กับฝีดาษลิงด้วย ถ้าเป็นฝีดาษลิง คนไข้จะเจ็บต่อมน้ำเหลืองที่คอ ใต้คาง รักแร้ หรือต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ แต่อีสุกอีใสไม่ค่อยพบต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ดังนั้น หากเจอตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนองทั่วร่างกาย อย่าลืมคลำต่อมน้ำเหลืองด้วย.

 

ข้อสี่ จากการสังเกตตุ่มของฝีดาษจะกระจายมากที่แขนขา มากกว่าที่ลำตัว แต่อีสุกอีใสพบผื่นที่ท้องและหน้าอกมากกว่า แต่ถ้าเป็นผื่นเยอะๆ ก็พบทั่วตัวก็มี . 

 

ข้อควรระวัง: จริงๆโรคฝีดาษลิงในระยะแรกๆแยกยากจากอีสุกอีใส หรือ เริม เพราะวันแรกๆ ก็มีไข้ มีผื่นแค่ไม่กี่ตุ่ม เช่น มีผื่นตุ่มหนองที่นิ้วมือ หรืออวัยวะเwศ แค่นั้น ไม่ได้มีผื่นทั้งตัว เราก็ไม่รู้ว่าเป็นแค่เริมหรือเปล่า? แต่วันถัดไปถ้าผื่นกระจายทั้งตัวมากขึ้น ก็อาจพอแยกได้.

 

 ข้อควรรู้ ฝีดาษลิงกับฝีดาษรุนแรง (smallpox) ไม่ใช่โรคเดียวกัน แม้ว่าเชื้อไวรัสจะอยู่ในตระกูลเดียวกัน แต่ไม่ใช่เชื้อเดียวกัน ความรุนแรงต่างกันมาก ฝีดาษรุนแรง (smallpox) อัตราการตายสูงมาก หรือเรียกว่าไข้ทรพิษ ปัจจุบันไม่มีโรคนี้แล้ว . ฝีดาษลิงมีความรุนแรงน้อยกว่า แต่ผื่นตุ่มหนอง เมื่อหายก็อาจเป็นรอยแผลเป็นได้ . ติดต่อได้อย่างไร? ฝีดาษลิงติดต่อได้จากการสัมผัสตุ่มหนองจากคนไข้ หากเรามีบาดแผลที่มือ แม้จะเป็นแผลเล็กที่เราไม่รู้ เราก็ติดเชื้อฝีดาษได้ ดังนั้นการล้างมือบ่อยๆจึงมีความสำคัญ รวมถึงการทำความสะอาดพื้นผิว ก็ฆ่าเชื้อได้ . ส่วนการไอหรือจามก็อาจติดฝีดาษได้ แต่เชื้อไวรัสมีขนาดใหญ่ จะพุ่งไปตามน้ำลายหรือเรียกว่า Droplet แต่ก็ไปได้ไม่ไกลนัก นึกถึงเราเขวี้ยงลูกบอลลูกใหญ่ๆ มันก็คงไปได้ไม่ไกลเท่าไร 

 

ดังนั้นการใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างพอสมควรก็ป้องกันได้ . อ้างอิงข้อมูลจาก CDC Monkeypox Centers for Disease Control and Prevention