เมื่อ : 19 ก.ค. 2566 , 204 Views

กรมสุขภาพจิต เปิดการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 22 ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “ภาคีความร่วมมือ สร้างสังคมผาสุก หยุดทุกความรุนแรง” (Enhancing Collaboration for Violence Prevention and Social Well Being)  

 

วันนี้ (19 กรกฎาคม 2566) กรมสุขภาพจิต จัดประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งนี้ ภายใต้หัวข้อเรื่อง “ภาคีความร่วมมือ สร้างสังคมผาสุก หยุดทุกความรุนแรง” พร้อมนำข้อมูลทางวิชาการเพื่อป้องกันปัญหาการสูญเสียจากความรุนแรงอันเป็นสาเหตุการตาย การบาดเจ็บ และผลเสียต่อสุขภาพทั้งทางกาย และจิตใจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 

 

 

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สังคมไทยประสบกับปัญหาความรุนแรงในหลายมิติและหลากหลายรูปแบบ และปัญหาดังกล่าวได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ   และสังคม ทั้งในความรุนแรงที่ปรากฏเด่นชัด เช่น การฆ่าตัวตาย ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงในเด็กและเยาวชน การก่ออาชญากรรม เป็นต้น 

 

จะเห็นได้จากใน ปี พ.ศ. 2565 พบว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความสงบสุขของโลกในลำดับที่ 103 และเป็นประเทศที่มีความรุนแรงในลำดับที่ 47 จาก 163 ประเทศ โดยความรุนแรง นั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ คิดเป็นร้อยละ 4 ของ GDP หรือคิดเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศประเทศไทยมีการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง 

 

โดยความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง โรงเรียนและสถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน เป็นต้น ซึ่งพบว่าการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนในการลดความรุนแรงในพื้นที่ 

 

ส่งผลให้ความรุนแรงในพื้นที่  ลดความรุนแรงได้มากกว่าร้อยละ 50.0  สังคมไทยได้เรียนรู้ประสบการณ์ในเรื่องความรุนแรงมายาวนาน แต่ปัญหาความรุนแรงนี้ก็ยังไม่ทุเลาลง อาจจะเนื่องจากสภาพสังคม เศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงสภาวะแวดล้อมต่างๆ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล 

 

ดังนั้นการเข้าใจปัญหาความรุนแรงที่เป็นพลวัตร การเรียนรู้จากประสบการณ์ในการจัดการแก้ไขปัญหา การเสริมสร้างภูมิต้านทานในการขจัดความรุนแรงในมิติต่างๆ ในสังคม โดยการระดมความร่วมมือทุกภาคีเครือข่ายในการลดความรุนแรง สังคมมีความสงบสุขอย่างยั่งยืน  

 

นายแพทย์จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต เห็นความสำคัญและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคม โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนดำเนินงานในการเสริมสร้างพลังใจ ลดปัจจัยเสี่ยง และแก้ไขเยียวยาความรุนแรงต่างๆ การดำเนินงานร่วมกันนี้เกิดบทเรียน แนวทางการดำเนินงานที่ดี ของเครือข่ายที่มีความเข้มแข็ง 

 

 

ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการพลิกฟื้นจากสถานการณ์ปัญหา ความรุนแรง และนำมาสู่สังคมที่มีความผาสุก กรมสุขภาพจิตจึงได้จัดประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 22 ประจำปี 2566 ภายใต้หัวข้อเรื่อง “ภาคีความร่วมมือ สร้างสังคมผาสุก หยุดทุกความรุนแรง” (Enhancing Collaboration for Violence Prevention and Social Well Being)

 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม ด้านสุขภาพจิตและจิตเวชที่ทันสมัย อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มพูนความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน และการดำเนินชีวิต ตลอดจนการเตรียมพร้อมทางจิตใจ ในการรับมือกับสภาวะสังคม เศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 

นายแพทย์ศิริศักดิ์  ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การประชุมวิชาการฯ ในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 21 กรกฎาคม 2566 ซึ่งภายในงานมีการมอบรางวัลที่สำคัญรางวัล Mental Health Award ประจำปี 2566 ได้แก่ นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ และรางวัลเกียรติยศศาสตราจารย์นายแพทย์ประสพ รัตนากรโดยในด้านสังคม ประเภทองค์กร บริษัท เช้นจ์2561 จำกัด กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และรางวัลประเภทบุคคลด้านชุมชนอีก 7 ท่านอีกด้วย

 

ซึ่งมีผู้เข้าลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมประมาณ 1000 คน เป็นบุคลากรด้านสุขภาพ นักวิชาการ คณาจารย์ ผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิต และเครือข่ายสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ รูปแบบการประชุมประกอบด้วย ปาฐกถาพิเศษ การบรรยาย การอภิปราย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ นิทรรศการ และการนำเสนอผลงานทางวิชาการ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

 

 

กรมสุขภาพจิต ขอให้ประชาชน ครอบครัว ชุมชน สังคมที่มีคนหลายช่วงอายุอยู่ร่วมกัน สามารถเรียนรู้ ยอมรับ ปรับตัว เพื่อลดความคิดเชิงลบแบบเหมารวม และสร้างทัศนคติเชิงบวกในแต่ละช่วงวัย อันจะสู่การห่างไกลจากความรุนแรง 

 

อย่างไรก็ตามหากช่วงนี้รู้สึกเครียด กังวล ไม่สบายใจ ทุกท่านสามารถสำรวจสุขภาพใจด้วยไลน์แอปพลิเคชัน คิวอาร์โคด Mental Health Check-In (MHCI) เพื่อรับทราบแนวทางการดูแลตนเองหรือรับการปรึกษาที่สถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านหรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง