เมื่อ : 28 ส.ค. 2566 , 189 Views


       องค์การเภสัชกรรมตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน  เดินหน้าปลูกป่าอย่างต่อเนื่องเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และแหล่งดูดซับคาร์บอน โดยปลูกต้นไม้ 17 ชนิด จำนวน 8850 ต้น บนพื้นที่ 50 ไร่  บนพื้นที่องค์การเภสัชกรรม อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว คืนอากาศบริสุทธิ์ให้ชุมชน มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์

 


วันที่ 26 สิงหาคม 2566 พญ.มิ่งขวัญ  สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม พร้อมด้วยคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม คณะผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานองค์การเภสัชกรรม และประชาชนรอบพื้นที่ จำนวน 200 คน ภายใต้โครงการ “GPO ร่วมใจปลูกป่า เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral)” ร่วมปลูกต้นไม้ จำนวน 17 ชนิด ประกอบด้วย 1. แดง  2. ชิงชัน 3. ยางนา 4. มะค่า 5. ตะเคียน 6. หว้า 7. กฤษณา 8. มะขามป้อม  9. นนทรีป่า   10. พะยูง 11. สัก  12. มะหาด 13. สาธร  14. ตะแบก 15. ประดู่ป่า 16. พะยอม  17. จำปาป่า (ตองสะกา)  โดยกิจกรรมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนต้นพันธุ์ จำปาป่า (Magnolia champaca) หรือ ตองสะกา จาก โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)  ซึ่งต้นจำปาป่า มีคุณสมบัติกักเก็บคาร์บอนได้ดี  เนื้อไม้มีคุณภาพดีใกล้เคียงกับไม้สัก เป็นไม้โตเร็วเอนกประสงค์เชิงเศรษฐกิจ หรือปลูกเป็นไม้อนุรักษ์เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน   โครงการปลูกป่า 50 ไร่ นี้ เมื่อปลูกครบ 10 ปี จะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ประมาณ 156.84 ตันคาร์บอน และช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 575 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

 

          ผู้อำนวยการ กล่าวต่อไปว่า องค์การเภสัชกรรมได้ดำเนินการปลูกต้น “สักสยามินทร์” จำนวน 8400 ต้น บนพื้นที่ 84 ไร่ ณ องค์การเภสัชกรรม อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2555  ปัจจุบันไม้สักอายุ 10 ปี  สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 103.27 ตันคาร์บอน ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 378.64 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ปลูกต้นยางนา จำนวน 2554 ต้น อีกทั้งมีการปลูกเถาวัลย์เปรียง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในระดับอุตสาหกรรมจำนวน 15 ไร่   ซึ่งเถาวัลย์เปรียงเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณเป็นยากษัยเส้น หรือรักษาอาการปวดเมื่อย บรรเทาอาการปวดหลัง และอาการปวดข้อเข่า โดยองค์การฯได้นำวัตถุดิบจากเถาวัลย์เปรียงมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ จีพีโอ เถาวัลย์เปรียง แคปซูล บรรเทาอาการปวดข้อเข่าได้ดี ช่วยให้การทำงานของข้อเข่าดีขึ้น และมีความปลอดภัยไม่ต่างจากการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน naproxen  

 

          “การดำเนินการดังกล่าวมุ่งหวังให้เป็นต้นแบบ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน      (Carbon Neutral) ผ่านการขับเคลื่อนของทุกภาคส่วนในการจัดการ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศให้เท่ากับศูนย์   ส่งต่ออากาศบริสุทธิ์ และพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้คงอยู่อย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน ทำให้ชุมชนมีอากาศที่ดีขึ้น และลดภาวะโลกร้อน รวมถึงให้ผู้ปฏิบัติงานองค์การเภสัชกรรมได้ตระหนักและมีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ  ต้นกล้าที่เติบโตขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจของคณะผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานองค์การเภสัชกรรม และประชาชนในพื้นที่ จะช่วยกันสร้างโลกที่ร่มเย็นให้แก่ลูกหลานในอนาคต องค์การเภสัชกรรมขอเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคม และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ให้กับคนรุ่นหลังต่อไป” ผู้อำนวยการฯกล่าว
                                          

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ