เมื่อ : 30 มี.ค. 2565 , 317 Views
“พาณิชย์-DITP” แนะผู้ส่งออกเกาะติดเทรนด์บรรจุภัณฑ์ปี 65 นำปรับใช้ทำตลาดญี่ปุ่น

   กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แนะผู้ส่งออกเกาะติดเทรนด์บรรจุภัณฑ์อาหารในญี่ปุ่น นำมาปรับใช้ในการทำบรรจุภัณฑ์สินค้าของไทย เพื่อให้โดนใจผู้บริโภค เพิ่มโอกาสในการขายสินค้า เผยเทรนด์ปี 65 เน้นดีไซน์ผ่อนคลาย อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดใช้บรรจุภัณฑ์ นำดีไซน์อดีตกลับมาใช้ ดีไซน์หรูทั้งนอกทั้งใน และใช้รูปแบบ 3 มิติ พร้อมย้ำการขายในญี่ปุ่น ต้องมีภาษาญี่ปุ่นอธิบายวิธีการใช้
 

 
   นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคในประเทศต่าง ๆ เพื่อนำมาแนะนำให้กับผู้ส่งออกของไทย ล่าสุดกรมฯ ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ถึงแนวโน้มของบรรจุภัณฑ์อาหารในตลาดญี่ปุ่น ที่เป็นที่ดึงดูดใจต่อผู้บริโภค เพื่อนำมาชี้แจงให้ผู้ส่งออกไทยได้รับรู้ และนำไปปรับใช้กับการพัฒนา
 

   บรรจุภัณฑ์สินค้าเพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกและขายสินค้าไทยในตลาดญี่ปุ่นโดยเทรนด์ของบรรจุภัณฑ์ในตลาดญี่ปุ่นปี 2565 ได้แก่ 1.ดีไซน์แนว Minimal ที่ดูเรียบง่าย มีตัวอักษรน้อย และเลือกสี ทำให้ผู้เห็นรู้สึกผ่อนคลาย 2.ดีไซน์บรรจุภัณฑ์ด้วยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยหันมาใช้วัสดุแทนพลาสติกมากขึ้น เช่น กระดาษหรือพลาสติกย่อยสลายได้ 3.สะท้อนแนวคิด “การบริโภคยึดจริยธรรม” ในบรรจุภัณฑ์ เช่น การลดวัสดุทำบรรจุภัณฑ์ให้น้อยลง 4.ดีไซน์ “Y2K” ในบรรจุภัณฑ์ คือ การนำดีไซน์ที่เคยโด่งดังในอดีต 20-30 ปีกลับมาประยุกต์ใช้ 5.เน้นดีไซน์ไม่เพียงแค่ด้านนอกแต่ใส่ใจการดีไซน์บรรจุภัณฑ์ด้านในด้วย และ 6.ดีไซน์บรรจุภัณฑ์ที่มีมิติ (3 มิติ)
 
   สำหรับสินค้าไทยที่จะวางจำหน่ายในญี่ปุ่น ฉลากสินค้าต้องมีการกำกับเป็นฉลากภาษาญี่ปุ่น ระบุข้อมูลผู้ผลิต ผู้นำเข้า ข้อมูลโภชนาการต่าง ๆ โดยหากบรรจุภัณฑ์ที่จะนำเข้ามาญี่ปุ่น เป็นบรรจุภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในต่างประเทศอยู่แล้ว เช่น กำกับเป็นภาษาไทย หรือภาษาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษาญี่ปุ่น จะมี 2 รูปแบบที่พบในการวางจำหน่ายในญี่ปุ่น คือ 1.นำฉลากสติ๊กเกอร์ภาษาญี่ปุ่นแปะทับบนตัวบรรจุภัณฑ์โดยตรง และ 2.พิมพ์เป็นฉลากภาษาญี่ปุ่นแทนภาษาต่างประเทศ ในบางกรณีอาจจะมีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่เป็นภาษาญี่ปุ่นเลย
ยกตัวอย่างสินค้าไทยที่เป็นที่นิยมในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นซอสปรุงรส ขนมขบเคี้ยว เครื่องปรุงอาหาร พริกแกงสำเร็จรูป หรือสินค้าพร้อมทานต่าง ๆ ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดญี่ปุ่น เห็นว่าแพกเกจจิ้งหรือบรรจุภัณฑ์
 

  มีความสำคัญสำหรับผู้บริโภค ได้แก่ น้ำจิ้มไก่แม่ประนอม ซึ่งเป็นสินค้าที่วางจำหน่ายในญี่ปุ่นหลายช่องทาง แต่เดิมจะเป็นในรูปแบบขวดแก้วขนาดเล็กและขนาดใหญ่ แต่หลังจากการสำรวจตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ใหม่ในรูปแบบหลอดบีบ ซึ่งตอบสนองวิธีการใช้งานที่ง่ายขึ้นสำหรับผู้บริโภค หลังวางจำหน่ายในญี่ปุ่นได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ชี้ให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์เดียวกัน (น้าจิ้มไก่เหมือนกัน) แต่ปริมาณ แบบบรรจุภัณฑ์ที่ต่างกัน ก็สามารถเจาะตลาดได้แตกต่างกัน

   นอกจากบรรจุภัณฑ์ที่ต้องมีการระบุเป็นภาษาญี่ปุ่นแล้ว ยังต้องระบุสัญลักษณ์ประเภทวัสดุของบรรจุภัณฑ์นั้น ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถแยกขยะทิ้งได้อย่างถูกต้อง เช่น เป็นพลาสติก กระดาษ ขวด PET หรือวัสดุเผาไม่ได้อย่างอลูมิเนียม เป็นต้น และหากเป็นสินค้าอาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน เช่น มัสมั่น ก็ต้องมีสัญลักษณ์ไมโครเวฟแสดงให้เห็น มีวิธีการอุ่น รวมถึงมาตรฐานที่ได้รับ เช่น ฮาลาล ออร์แกนิก เป็นต้น

   นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการต้องการทราบแนวโน้มและทิศทางบรรจุภัณฑ์ในตลาดญี่ปุ่นเพิ่มเติม สามารถเข้าร่วมชมงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์สินค้าต่าง ๆ ได้ ดังนี้ 1.TOKYO PACK (จัดในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี) เป็นนิทรรศการบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย จัดแสดงที่ Tokyo Big Sight กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยจัดแสดงบรรจุภัณฑ์ที่มีนวัตกรรม มีเทคโนโลยีที่ดีที่สุดแห่งปีในญี่ปุ่น มีความทันสมัย มีการออกแบบที่สร้างสรรค์ และมีประสิทธิภาพ งานนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เห็นความก้าวหน้าของตลาดบรรจุภัณฑ์ ความต้องการของผู้บริโภคและความสำคัญของผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ 2.JAPAN PACK (จัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี) เป็นนิทรรศการบรรจุภัณฑ์ในญี่ปุ่น จัดแสดงที่ Tokyo Big Sight กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มี Japan Packaging Machinery Manufacturers Association เป็นผู้จัดงาน จึงถือเป็นอีกงานหนึ่งที่น่าสนใจมากสำหรับการติดตามเทคโนโลยี แนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ในตลาดญี่ปุ่นในแต่ละปี  

   สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
30 มีนาคม 2565
Tag :